ก่อนที่จะกล่าวถึงว่า “ทำไมต้องวางแผนจัดทำพินัยกรรม” ต้องเกริ่นก่อนว่า “กองมรดก คืออะไร และมีวิธีการส่งต่อแบบไหนบ้าง” เมื่อพูดถึงกองมรดก คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามีแต่ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองมรดก ประกอบด้วย 1.ทรัพย์สินทุกชนิดเช่น เงิน บ้าน รถยนต์ อื่นๆ 2.สิทธิต่างๆ 3.หน้าที่และความรับผิดเช่น หนี้สิน เป็นต้น ซึ่งหากบุคคลเสียชีวิต สามารถส่งต่อกองมรดกเหล่านี้ ได้ 2 แบบ คือ “ทายาทโดยพินัยกรรม” และ“ทายาทโดยธรรม”
ในส่วนของทายาทโดยธรรมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเสียชีวิตแล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ (ไร้พินัยกรรม) หรือทำไว้แล้วแต่พินัยกรรมนั้นไม่สามารถใช้บังคับได้ ดังนั้นมรดกของผู้เสียชีวิตจะตกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้น (มี 6 ลำดับชั้น)
แต่ถ้าหากต้องการส่งต่อกองมรดก ให้กับบุคคลตามที่เราต้องการ เช่นอยากให้บ้านกับลูกคนโต อยากให้คอนโดกับลูกคนเล็ก หรือแม้กระทั่ง อยากให้เงินสดกับน้องสาวสิ่งเหล่านี้ เราสามารถเลือกส่งต่อสินทรัพย์ของเรา ตามที่เราต้องการได้ โดยการ“จัดทำพินัยกรรม”ดังนั้นการวางแผนจัดทำพินัยกรรม จะทำให้เราได้ส่งมอบสินทรัพย์หรือกองมรดกอย่างที่เราต้องการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การส่งต่อมรดกขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์หรือความต้องการของแต่คนว่าต้องการส่งต่อให้ใคร และจำนวนเท่าไหร่ ถ้าหากว่า การส่งต่อให้กับทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้นเหมาะสมแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำพินัยกรรม แต่ถ้าหากว่ายังไม่เหมาะสม เช่นต้องการส่งต่อให้กับคนใดคนหนึ่งตามจำนวนที่ต้องการ การส่งต่อมรดกแบบทายาทโดยพินัยกรรมจึงเหมาะสมมากกว่า ส่วนรูปแบบการทำพินัยกรรม สามารถศึกษาเพิ่มเติมต่อได้ และไม่ว่าต้องการจะส่งต่อมรดกในรูปแบบไหนก็ควรรีบทำในทันที เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่มีใครรู้วันตายของตนเองด้วย