เมื่อพูดถึงจักรวาลของการลงทุนเราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Real Asset) และสินทรัพย์ทางการเงิน (FinancialAsset) ซึ่งสมัยก่อนคนที่เหลือเงินเก็บมักจะชอบลงทุนใน Real Asset มากกว่าเช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคาร บ้าน ห้องชุด ทองคำ ทำธุรกิจ เป็นต้นแต่มายุคหลัง สินทรัพย์ทางการเงินมีการพัฒนามากขึ้น และนักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้นจึงนิยมลงทุนกันมากขึ้นด้วย โดยที่สินทรัพย์ทางการเงินหลัก ๆ ก็จะแบ่งได้เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางค่อนข้างต่ำและสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงถึงเสี่ยงสูงมาก ดังนี้
ประเภทสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางค่อนข้างต่ำ
1.ตั๋วเงินคลัง(Treasury Bill) เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน1 ปี ออกโดยภาครัฐมีเพื่อให้ภาครัฐขอยืมเงินจากประชาชนหรือสถาบันต่างๆมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการของรัฐโดยที่รัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้ตามที่ระบุไว้หน้าตั๋วถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดเนื่องจากโอกาสที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้มีน้อยมาก
2.ตั๋วแลกเงิน หรือที่มักเรียกกันว่าตั๋ว B/E (Billof Exchange) เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยภาคเอกชน (บริษัทเอกชนหรือธนาคาร) ที่มีอายุไม่เกิน270 วัน ออกมาเพื่อระดมทุนระยะสั้นจากประชาชนไปใช้ในกิจการความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับผู้ออก ว่ามีความมั่นคงหรือมีโอกาสล้มละลายหรือขาดสภาพคล่องมากน้อยเพียงไรวิธีการจ่ายผลตอบแทนจะเป็นแบบอัตราคิดลด (Discount)เช่น ตั๋ว B/Eของบริษัทขายที่ราคา 9.8 ล้านบาทอีก 270 วันจะไถ่ถอนที่ราคา10 ล้านบาทไม่มีผลตอบแทนอื่นระหว่างทาง เท่ากับว่าอัตราผลตอบแทนของตั๋ว B/E นี้จะอยู่ที่10 / 9.8 =2.0408% ต่อ 9 เดือน หรือเท่ากับผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 2.7589% ต่อปี
3.ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วP/N (Promissory Note) เป็นประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นคล้ายๆ กับตั๋ว B/Eที่ออกโดยเอกชน แต่หน้าตั๋วจะต้องระบุเงินต้นดอกเบี้ย กำหนดวันที่จ่ายเงิน และวันที่สิ้นสุดการชำระหนี้เอาไว้ชัดเจนในขณะที่ตั๋ว B/Eจะได้ผลตอบแทนโดยการใช้อัตราคิดลด
4.พันธบัตร (Bond) เป็นตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวที่มีอายุตั้งแต่ 1ปีขึ้นไป หากผู้ออกพันธบัตรเป็นรัฐบาลจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล(GovernmentBond) แต่ถ้าผู้ออกเป็นรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ(State OwnedEnterprise Bond) และถ้าออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะเรียกว่า Bank of Thailand Bond โดยส่วนมากจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้ที่หน้าตั๋วและวันที่จ่ายดอกเบี้ยไว้ชัดเจน
5.หุ้นกู้ (Corporate Bond) เป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนสามารถออกได้โดยบริษัทเอกชนหรือสถาบันการเงินโดยมากหุ้นกู้จะเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักลงทุนที่ชื่นชอบผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย (Interest) ที่สูงกว่าตราสารหนี้ชนิดอื่นๆซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้มีตั้งแต่ 2% ต่อปีไปจนถึง 8% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ออกตราสารหนี้ระยะเวลาลงทุน และประเภทของหุ้นกู้ หากเป็นบริษัทเดียวกันเป็นผู้ออกหุ้นกู้ตัวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและมีหลักประกัน จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ อายุของหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เช่น หุ้นกู้อายุ 2 ปีจะเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุ 5 ปี
นักลงทุนที่รับความเสี่ยงความผันผวนของราคาสินทรัพย์ไม่ได้มักจะลงทุนกับสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแต่หากต้องการเพิ่มผลตอบแทนรวมของการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินก็จะต้องแบ่งสัดส่วนจากเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลางค่อนข้างสูงถึงสูงมากที่จะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป