ทำความเข้าใจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

คุณ วรรณภรณ์ สินาเจริญ CFP®

|

8/30/20

“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ถูกนำมาใช้แทน “ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องถิ่น” เพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน ที่ดินเปล่า คอนโด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ย่อมต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งภาษีนี้ถูกจัดเก็บโดย “องค์การส่วนท้องถิ่น” เพื่อนำเงินรายได้จากภาษีไปพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ  แต่ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าที่ดิน และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเฉพาะมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง (สิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ต้องเสียภาษีนี้)

การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีขึ้นอยู่กับประเภทการใช้ประโยชน์หรือการใช้งาน แต่ถ้าหากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่การใช้งานตามประเภทนั้น ๆ  โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท  ดังนี้

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม  ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปลูกพืช และอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด  ทั้งนี้ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร หรือต้องปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น ปลูกกล้วยหอม ขั้นต่ำ 200 ต้นต่อไร่ ปลูกทุเรียน ขั้นต่ำ 20 ต้นต่อไร่ เป็นต้น
  2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย  ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง (บ้านตนเอง) บ้านของตนเองแต่ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย  ให้เช่าเพื่ออาศัยแบบรายเดือน (หอพัก คอนโด เป็นต้น)  รวมถึงโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย  แต่ถ้าเป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม จะไม่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย แต่จะถูกเก็บภาษีในอัตราอื่น ๆ แทน
  3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อทำการค้าหรือเชิงพาณิชย์  เช่น โรงงาน โรงแรม โกดังสินค้า ร้านค้า เป็นต้น
  4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า  เป็นที่ดินที่สามารถทำประโยชน์บางอย่างได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่า

การเตรียมตัวรับมือกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขั้นแรกควรสำรวจว่าเรามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใดบ้าง ที่ดินที่เรามีอยู่เป็นการใช้ประโยชน์แบบใดเพราะแต่ละแบบมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ขั้นที่สองสำรวจราคาประเมินของที่ดินที่มีอยู่ ขั้นที่สาม ลองประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นจำนวนเท่าใด  ขั้นสุดท้าย  จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ถ้าหากจำนวนภาษีสูงเกินไป ให้ประเมินว่ามีที่ดินที่ไหนบ้างที่สามารถเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เพื่อให้อัตราภาษีลดลงได้บ้าง  ดังนั้นการประเมินหรือเตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆทุกปี จะทำให้มีโอกาสประหยัดภาษีได้

อ่านบทความอื่นต่อ

POSSIBLE Wealth Advisory Services Co., Ltd.

388 อาคารอามีโก้ทาวเวอร์ ชั้น 24 โซนบี ถนนสี่พระยา แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500

095-204-4180

Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.