เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการวางแผนการลงทุนเราควรจะเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย ว่าการลงทุนแต่ละครั้งนั้น มีเป้าหมายเป็นอะไร เราจึงจะสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนได้ถูกต้องว่าจะเป็นแบบใดซึ่งนโยบายการลงทุนยอดนิยมนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1.นโยบายการลงทุนแบบมุ่งเน้นการรักษาเงินต้น(CapitalProtection) นโยบายลงทุนแบบนี้จะเหมาะกับเป้าหมายที่เป็นระยะสั้น และมีความสำคัญโดยเราจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูงโอกาสขาดทุนจากการลงทุนน้อยมาก แต่ไม่มุ่งเน้นในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุน
2.นโยบายการลงทุนแบบสร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ(CurrentIncome) นโยบายนี้มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดให้มีเงินเข้าบัญชีมาเพื่อการใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอโดยจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่เรานำเงินเข้าไปลงทุนโดยที่หลักทรัพย์ที่ลงทุน จะต้องสามารถจ่ายดอกเบี้ย ค่าเช่า และเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอในภาวะปกติ
3.นโยบายการลงทุนแบบมุ่งเน้นผลตอบแทนสูง(CapitalAppreciation) เป็นนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนทบต้นในระยะยาวเหมาะสำหรับเป้าหมายการใช้เงินลงทุนจำนวนนี้ในอนาคตไกลๆการลงทุนมักจะมีความผันผวนสูงมีโอกาสเห็นราคาหลักทรัพย์ขาดทุนได้ค่อนข้างมากในระยะสั้นแต่เมื่อลงทุนระยะยาวผ่านวัฐจักรเศรษฐกิจจากถดถอยไปจนถึงรุ่งเรืองผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะสูงมากหากมีการจัดสรรพอร์ตลงทุนไว้เป็นอย่างดี
นอกจากการใช้นโยบายการลงทุนทั้ง3 อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีนโยบายการลงทุนอีกอย่างที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนของเรามีประสิทธิภาพสูง และสามารถใช้งานได้หลากหลายได้แก่ การวางแผนการลงทุนแบบองค์รวม (Total Return) คือ นโยบายการลงทุนแบบผสมผสานทั้ง 3 แบบข้างต้นเข้าด้วยกัน ด้วยนโยบายนี้เราจะสามารถวางแผนได้ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยระยะสั้นจะแบ่งเงินไปลงทุนแบบ CapitalProtection และระยะยาวแบ่งเงินมาลงทุนแบบ CapitalAppreciation ทั้งนี้ เรายังสามารถทำให้พอร์ตการลงทุนสร้างกระแสเงินสดออกมาในระหว่างการลงทุนได้โดยการผสมนโยบายแบบCurrent Income เข้าไปร่วมด้วย