หลายคนคงเคยเห็นข้อความเตือนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง” และหลายคนหลังจากเจอคำเตือนแบบนี้ไป ก็กลับกลัวที่จะลงทุนขึ้นมา โดยที่ไม่รู้ว่า แม้การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนอะไรเลยกลับเสี่ยงยิ่งกว่า เพราะถ้าไม่ลงทุน ความมั่งคั่งของเราก็จะถูกเงินเฟ้อกัดกิน อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบไม่มีความรู้อะไรเลยนั้น มีความเสี่ยงสูงสุด เพราะฉะนั้น ก่อนการลงทุน เราจึงต้องทำความรู้จักกับตนเอง รู้จักสินทรัพย์ลงทุน และรู้จังหวะลงทุน ทั้งสามขั้นตอนนี้ จะช่วยไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของการลงทุนได้ง่าย
ขั้นตอนแรก เราต้องรู้จักตนเองก่อน การรู้จักตนเองในที่นี้ มีสองส่วนได้แก่ การรู้จักทรัพย์สินของเราเอง และการรู้จักความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง
ส่วนแรกของการรู้จักตนเองคือ เราต้องสำรวจดูว่าทรัพย์สิน และหนี้สินของเรามีอะไรอยู่บ้าง ถ้ามีหนี้ที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หรือเงินกู้อื่นๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เราควรปิดหนี้สินในส่วนนี้ให้หมดเสียก่อน ค่อยนำเงินมาลงทุน แต่ถ้าหากหนี้นั้นเป็นสินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ ก็ต้องพิจารณาดูว่าการลงทุนของเรามีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อนั้นมากแค่ไหน ถ้ามากกว่า ก็ลงทุนได้
การรู้ตนเองอีกส่วนคือ การรับรู้ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง ว่าจะทนต่อความผันผวนของมูลค่าเงินที่ลงทุนได้แค่ไหน การประเมินความเสี่ยงอาจใช้แบบทดสอบความเสี่ยงที่ทางกลต.มีให้ก็ได้
ขั้นตอนที่สอง เมื่อเรารู้จักตนเองแล้ว ให้ทำความรู้จักกับสินทรัพย์ลงทุน เช่น เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตราสารทางการเงินเหล่านี้ เหมาะที่จะนำมาจัดพอร์ตลงทุนให้ได้ตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยถ้าผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ ก็ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ และเงินฝาก เช่น เงินฝากดอกเบี้ยสูง หุ้นกู้ กองทุนตลาดเงิน และกองทุนตราสารหนี้ เพื่อความมั่นคงของเงินลงทุน กรณีที่รับความเสี่ยงได้ในระดับสูง ก็อาจพิจารณาลงทุนในหุ้นสามัญ หรือกองทุนหุ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนระดับสูง
ขั้นตอนที่สาม หลังจากรู้จักกับสินทรัพย์ที่เราสามารถลงทุนได้แล้ว ต่อไปเราต้องรู้จักจังหวะการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละชนิด ซึ่งจะมีจังหวะเวลาที่ไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ สามารถนำเงินมาลงทุนในเงินฝากดอกเบี้ยสูง หรือกองทุนตลาดเงินได้ทันที ไม่ต้องรอจังหวะ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง และระดับสูง ควรหาจังหวะการลงทุนในกองทุนหุ้น เช่น ลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นยังไม่ร้อนแรงจนเกินไป หรืออาจจะใช้วิธีทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่ใช้เวลาในการติดตามข่าวสารการลงทุนไม่มากนัก